วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

การจัดดอกไม้

การจัดดอกไม้


การจัดดอกไม้ ถือเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่จำเป็นต้องอาศัยทักษะ ประสบการณ์ เพราะจะต้องใช้ดอกไม้ที่แตกต่างกันในหลากหลายสี การไล่โทน การนำเอาดอกไม้หรือใบไม้ ตลอดจนวัสดุต่าง ๆ มาจัดให้อยู่ในองค์ประกอบทางศิลปะ ซึ่งต้องมีความสัมพันธ์กัน และทำให้เกิดมุมมองที่สวยงาม นับได้ว่าเป็นศิลปะและวิวัฒนาการที่สืบทอดกันมาช้านาน การจัดดอกไม้โดยส่วนใหญ่นิยมจัดเลียนแบบดอกไม้สดธรรมชาติ

หลักการจัดดอกไม้

สิ่งที่ต้องเตรียม
1. ภาชนะสำหรับจัด หมายถึง ภาชนะสำหรับรองรับดอกไม้มีหลายชนิด เช่น แจกันรูปทรงต่าง ๆ เช่น กระบุง ตะกร้า ชะลอม
2. ที่สำหรับรองภาชนะ เมื่อจัดดอกไม้เสร็จควรมีสิ่งรองรับเพื่อความสวยงาม ความโดดเด่นของแจกัน เช่นไม้ไผ่ขัดหรือสานเป็นแพ กระจก แป้นไม้
3. กรรไกรสำหรับตัดแต่ง
4. เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ลวด ทราย ดินน้ำมัน กระดาษสี ฟลอร่าเทปสีเขียว ก้านมะพร้าว ลวดเบอร์ 24 และ เบอร์ 30
5. ดอกไม้ประดิษฐ์พร้อมใบไม้สำเร็จ
6. เครื่องประกอบตกแต่ง เช่น กิ่งไม้ ขอนไม้ ตุ๊กตา ขดลวด เป็นต้น

ดอกไม้ที่นิยมใช้
1. เลือกดอกไม้ตามวัตถุประสงค์สำหรับงานนั้น ๆ
2. ความทนทานของดอกไม้ประดิษฐ์
3. ขนาด เลือกให้เหมาะกับภาชนะ สถานที่ตั้ง และแบบของการจัด
4. การเลือกสี ต้องดูฉากด้านหลังและจุดประสงค์ว่าต้องการ กลมกลืน หรือตัดกัน
5. ความนิยม เช่นดอกกุหลาบนิยมใช้ในงานมงคล ดอกบัวใช้บูชาพระ

สิ่งควรคำนึงในการจัด ดอกไม้
1. สัดส่วน ควรให้ความสูงของดอกไม้พอดีกับแจกันเช่น แจกันทรงสูง ดอกไม้ดอกแรกควรสูง เท่ากับ 1.5 - 2 เท่าของความสูงของแจกัน สำหรับแจกันทรงเตี้ยดอกไม้ดอกแรกควรสูง เท่ากับ 1.5 - 2 เท่าของความกว้างของแจกัน
2. ความสมดุยลควรจัดให้มีความสมดุลไม่หนักหรือเอียงข้างใดข้างหนึ่ง
3. ความกลมกลืน เป็นหัวใจของการจัดต้องมีความสัมพันธ์ทุกด้านตั้งแต่ขนาดของแจกัน ความเล็กและใหญ่ของดอกไม้ ความมากน้อยของใบที่นำมาประกอบ
4. ความแตกต่าง เป็นการจัดที่ทำให้สวยงามสะดุดตา เช่นจัดดอกไม้เล็ก ๆ และมีดอกใหญ่เด่นขึ้นมา
5. ช่วงจังหวะ ช่วยให้ดอกไม้มีชีวิตมากขึ้น ควรไล่ขนาด ดอกตูม ดอกแย้ม จนถึงดอกบาน
6. การเทียบส่วน เป็นความสัมพันธ์กับส่วนต่าง ๆ เช่น ดอกไม้ดอกเล็กควรใส่แจกันใบเล็ก ตลอดจนที่รองแจกันมีขาดเล็กด้วย

รูปแบบการจัดดอกไม้

การจัดดอกไม้โดยทั่ว ๆ ไปแบ่งออกเป็น 3 แบบ ดังนี้
1. การจัดดอกไม้เลียนแบบธรรมชาติ ( เพื่อใช้เอง) เป็นการจัดดอกไม้แบบง่าย ๆ เพื่อประดับตกแต่งบ้าน โดยอาศัยความเจริญเติบโตของต้นไม้ ดอกไม้ กิ่งไม้ นำมาจัดลงภาชนะ โดยใช้กิ่งไม้ขนาดต่าง ๆ 3 กิ่ง การจัดดอกไม้แบบนี้ นิยมนำหลักการจัดดอกไม้จากประเทศญี่ปุ่นมาประยุกต์
2. การจัดดอกไม้แบบสากล นิยมจัด 7 รูปแบบ คือ รูปทรงแนวดิ่ง ทรงกลม ทรงสามเหลี่ยมมุมฉากทรงสามเหลี่ยมด้านเท่า ทรงพระจันทร์คว่ำ ทรงพระจันทร์เสี้ยว ทรงตัวเอส
3. การจัดดอกไม้แบบสมันใหม่ เป็นการจัดดอกไม้ที่มีรูปแบบอิสระ เน้นความหมายของรูปแบบบางครั้งไม่จำเป็นต้องใช้ดอกไม้แต่อาจใช้วัสดุหรือภาชนะเป็นจุดเด่นเป็นการสร้างความรู้สึกให้ผู้พบเห็น การจัดดอกไม้แบบนี้ยังอาศัยหลักเกณฑ์ สัดส่วนและความสมดุลด้วย
การเตรียมดอกไม้ก่อนจัด
1. ดอกไม้ ใบไม้ ที่ซื้อมาจากตลาดต้องนำมาพักไว้ในน้ำอย่างน้อย 45 นาที - 2 ชั่วโมง
2. นำดอกไม้มาลิดใบที่ไม่สวย เหี่ยว หรือไม่จำเป็นออกไป
3. ตัดก้านดอกไม้ใต้น้ำ หากก้านไม่แข็งให้ตัดตรง หากก้านแข็งให้ตัดเฉียงประมาณ 1 นิ้ว
4. แช่ดอกไม้พักไว้ในน้ำมาก ๆ
5. ดอกไม้ที่ซื้อมาค้างคืนให้ห่อด้วยใบตองหรือกระดาษ นำไปแช่ไว้ในถังน้ำ เพื่อไม่ให้ดอกบานเร็ว

หลักทั่วไปในการจัดแจกันดอกไม้
1. หน้าที่และประโยชน์ใช้สอย ก่อนจัดควรจะทราบวัตถุประสงค์ในการจัดตกแต่งก่อนว่า จะใช้ในงานอะไร และจะจัดวางที่ไหน เช่น วางกลางโต๊ะ วางมุมโต๊ะ ชิดผลัก หรือแจกันติดผนัง เป็นต้น และควรดูด้วยว่า ลักษณะของห้องที่จะจัดวางเป็นห้องลักษณะแบบใด ทรงใด และขนาดเล็ก ปานกลางหรือใหญ่ เพื่อเราจะได้เลือกแจกันและดอกไม้ที่เหมาะสมกับห้องนั้น ๆ ด้วย
2. สัดส่วน สัดส่วนเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่จะกำหนดว่าแจกันที่จัดเสร็จจะสวยหรือไม่สวย ถ้าสัดส่วนไม่สมดุลย์แจกันที่จัดออกมาก็ไม่สวย สิ่งที่ต้องคำนึง
2.1 ภาชนะทรงเตี้ย ความสูงที่จัดควรเป็น 1.5-2 เท่า ของความกว้างของภาชนะ
2.2 ภาชนะทรงสูง ความสูงที่จัดควรเป็น 1.5-2 เท่า ของความสูงของภาชนะ
3. การเทียบส่วน ระหว่างดอกไม้กับแจกัน, แจกันกับขนาดของห้อง
4. ความสมดุลย์ เป็นความถ่วงดุล เช่น ซ้ายขวาเท่ากัน หรือ สองข้างไม่เท่ากันแต่หนักไปทางใดทางหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้จัด
5. การเลือกสี เส้นและขนาดให้แตกต่าง กัน เช่น สีกลาง อ่อน เส้นที่โค้งเรียว ขนาดดอกมีใหญ่เล็กเป็นต้น
6. ความกลมกลืน คือ การเข้ากันอย่างสอดคล้องระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ
7. ความแตกต่าง เช่น สีของดอก ใบ และภาชนะที่มีสีแตกต่างกัน แต่ความแตกต่างไม่ควรเกิน 20%
8. การสร้างจุดเด่น คือ จัดให้มีตัวเด่น ตัวรอง และให้มีการส่งเสริมกันและกัน

การจัดดอกไม้สำหรับงานเเต่งงาน
หลักในการจัดดอกไม้ในงานเเต่งงาน

ดอกไม้ในงานแต่งงาน เปรียบได้กับเครื่องประดับชิ้นสวยของงาน ที่เจ้าภาพจัดเตรียมไว้ต้อนรับสร้างความประทับใจให้กับแขกเหรื่อ และยังเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะช่วยทำให้ความทรงจำที่เก็บไว้ในภาพถ่ายงดงาม
นักจัดดอกไม้ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การจัดดอกไม้ในงานแต่งงานไม่ได้ยึดถือเรื่องเทรนด์เป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับฤดูกาลของดอกไม้และความชอบของคู่บ่าว-สาวมากกว่า ดังนั้นก่อนจะไปพบนักจัดดอกไม้ คุณควรทำการบ้านโดยการพูดคุยตกลงกันว่าด้วยประเด็นต่างๆดังต่อไปนี้
ต้องมีคอนเซ็ปต์ชัดเจนในใจ ว่าจะจัดงานแต่งงานแบบไหน ชอบดอกไม้โทนสีอะไร สไตล์ไหน ทุกวันนี้คนนิยมจัดดอกไม้โทนสีขาว-เขียว เพราะเป็นสีที่ปลอดภัยหายห่วง ดูเรียบร้อยและโก้หรู แต่เวลาถ่ายรูปออกมาสีอาจจืดชืดไป ถ้าคุณชอบสีสันสดใส แนะนำให้ลองจัดธีมสีแดง-ชมพู หรือสีเหลือง-ส้ม โทนสีเหล่านี้มีดอกไม้ให้เลือกใช้ได้มากมายหลายชนิด
เ มื่อเห็นพ้องต้องกันแล้ว อย่าลืมถามความเห็นชอบของครอบครัวด้วย โดยเฉพาะญาติผู้ใหญ่ที่ช่วยซัพพอร์ทงบประมาณการจัดงานแต่งงานให้คุณ หากขัดแย้งกันควรพูดคุยให้เข้าใจ ดีกว่าต้องมารื้อหน้างาน เพราะจะเป็นเรื่องวุ่นวายมาก
หาสถานที่จัดงานให้เรียบร้อยเสียก่อน คอนเซ็ปต์ของดอกไม้ที่คุณคิดไว้ควรไปกันได้กับสไตล์ของห้องที่จะจัดงาน เช่น ถ้าห้องหรูหรา ใหญ่โต แต่อยากจัดดอกไม้สไตล์มินิมัลลิสม์คงไม่เหมาะ เพราะดอกไม้จะจมหายไปทันที
งบประมาณ ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าบ่าวเจ้าสาวให้ความสำคัญกับดอกไม้ในงานแต่งงานมากแค่ไหน นักจัดดอกไม้ส่วนใหญ่ชอบให้ลูกค้าบอกงบประมาณในใจมาก่อน เพราะจะทำงานได้ง่ายขึ้น รู้ว่าควรจะครีเอทมากแค่ไหน เพราะถ้าให้คิดไปก่อนโดยไม่บอกงบประมาณ บางคนอาจมีไอเดียบรรเจิด อยากสร้างสรรค์งานของคุณให้สวยที่สุด แต่สุดท้ายก็ทำไม่ได้ เพราะติดเรื่องงบประมาณ ทำให้เสียเวลากันทั้งสองฝ่าย
เมื่อทราบงบประมาณคร่าวๆ นักจัดดอกไม้จะดีไซน์การจัดดอกไม้เลือกชนิดของดอกไม้ที่จะใช้ แล้วกลับมาคุยกันอีกครั้ง หากคุณชอบใจและตกลงราคากันได้ จะต้องเตรียมสตางค์ไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานล่วงหน้าด้วย จำนวนเงินจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่จะตกลงกัน
ควรมีเวลาเตรียมงานล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งเดือน เพราะนักจัดดอกไม้จะต้องไปดูขนาดห้องที่จะจัดงานเพื่อออกแบบและคิดคำนวนว่าจะต้องใช้ดอกไม้มากน้อยแค่ไหนถึงกำลังสวย แล้วจึงสั่งดอกไม้ ดอกไม้บางชนิดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วยังต้องเตรียมงานโครงสร้างต่างๆ เช่น โครงเหล็กซุ้มประตู ทำ backdrop หรือฉากหลังไว้สำหรับถ่ายรูป


ประเภทของการจัดดอกไม้
จัดดอกไม้สไตล์ Topiary

โทปิอารี่ (Topiary) เป็นศิลปะการตกแต่งไม้พุ่มให้เป็นรูปทรงต่างๆ โดยเฉพาะรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปทรงกลม รูปสามเหลี่ยม หรือรูปสี่เหลี่ยม รวมทั้งการตกแต่งให้เป็นรูปคน สัตว์ หรือสิ่งของต่างๆ ซึ่งศิลปการตกแต่งดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมตั้งแต่ยุคโบราณจนกระทั่งถึงปัจจุบันนี้และต่อมานักจัดดอกไม้ก็ได้นำศิลปะการจัดโทปิอารี่มาใช้ในการจัดดอกไม้ด้วย โดยโทปิอารี่ที่จัดง่ายที่สุดคือรูปทรงกลม และดอกไม้ที่จัดโทปิอารี่ได้สวยที่สุดก็คือ ดอกกุหลาบนั่นเอง



การจัดดอกไม้รวม
การจัดดอกไม้รวมให้ออกมาดี คือ ดอกไม้แต่ละแบบต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน และการส่งเสริมกันนี้ จะทำให้ความงามของดอกไม้สมบูรณ์ยิ่งขึ้

การจัดดอกไม้สีโทนร้อน

สีโทนร้อนได้แก่ สีแดง สีส้มหรือสีแสด สีเหลือง สีม่วง เป็นต้น สีโทนร้อนเป็นสีที่แสดงถึงพลัง ความบ้าคลั่ง ความตื่นเต้นเร้าใจ การเย้ายวน ความกระฉับกระเฉง และไม่พ่ายแพ้ง่าย ๆ ถ้าคุณจะจัดดอกไม้โทนร้อนในบ้าน ควรเลือกมุมที่แสงแดดส่องถึง การจัดลำดับสีโทนร้อนมีความหลากหลาย ที่จะทำให้คุณมีความคิดสร้างสรรค์แบบไม่จำกัด


การจัดดอกไม้สีโทนอ่อน
สีโทนอ่อนเป็นสีเย็นตา เช่น สีขาว มักใช้ในโอกาศสำคัญเกี่ยวกับทางศาสนา เช่น งานแต่ง ดอกไม้สีขาวเป็นทางเลือกคลาสสิค ความงามตามธรรมชาติของดอกไม้สีอ่อน ทำให้ดูดีขึ้นได้ด้วยการเลือกใบอย่างชาญฉลาด ภาชนะที่ใส่ถ้าเป็นดอกสีขาว ภาชนะอาจจะเลือกให้อยู่ในโทนเดียวกันก็ได้ จะให้ความงามที่สบายตา และดูมีรสนิยม
การจัดดอกไม้ขนาดใหญ่

การจัดดอกไม้ขนาดใหญ่ ต้องการภาชนะที่ใหญ่และหนัก ภาชนะที่ใช้อาจจะเป็นแจกันขนาดใหญ่ โอ่งขนาดเล็กหรือกลาง หรือง่าย ๆ ถังสีที่คุณใช้แล้ว ทำความสะอาดสักหน่อย ก็จะให้ความสวยที่ไม่แพ้กับแจกันราคาแพง ยิ่งเป็นการจัดดอกไม้ใหญ่เท่าไร ความสำคัญของภาชนะก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเป็นจุดสนใจด้วย


การจัดดอกไม้สมัยใหม่

การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่ ดูเหมือนจะได้รับอิทธิพลมาจากญี่ปุ่นเป็นอันมาก โดยมีอิทธิพลของจิตรกรเป็นส่วนประกอบด้วย เพราะลักษณะรูปแบบในการจัดดอกไม้ตามแบบสมัยใหม่ มีทีท่าส่อไปในรูปแบบที่คำนึงถึงความง่าย ความสะดวก เช่นเดียวกับการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น ไม่พิถีพิถันในการเลือกสรรวัสดุการจัดและอุปกรณ์แต่อย่างได หากแต่ว่าได้เน้นหนักไปในทางที่จะต้องทำให้ได้ส่วนสัมพันธ์และรับกันกับแบบของเครื่องเรือนหรือลักษณะและรูปแบบของห้องที่นำมันไปประดับเป็นส่วนประกอบมากกว่าอื่นใดทั้งหมด
ความสวยงามละลานตาตามคติเก่าๆ ในการจัดดอกไม้ แทบจะไร้ความหมาย สำหรับการจัดดอกไม้ตามแบบสมัยใหม่นี้ เหตุนี้เอง หลักสำคัญในการจัดดอกไม้แบบนี้จึงขึ้นอยู่กับแนวหรือเส้นของรูปพรรณ อันเป็นผลทำให้ไม้และใบไม้ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งกว่าดอกไม้เสียด้วยซ้ำ
การคำนึงในเรื่องของสีได้เป็นสิ่งที่พึงระมัดระวังเป็นกรณีพิเศษทีเดียว เพราะรสนิยมของคนในสมัยใหม่นั้น ส่วนมากมักไม่ใคร่ชอบสีที่ตัดกันอย่างแท้จริง หากแต่ชอบสีที่กลมกลืนคล้ายคลึงกันมากกว่า เช่น ห้องสีแดง ก็มักจะจัดดอกไม้สีแดงแก่หรืออ่อน หรือสีชมพู หรือสีส้ม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองสามอย่างควบคู่กัน ทั้งนี้ต้องแล้วแต่รสนิยมของแต่ละบุคคล ยิ่งไปกว่านั้น แม้การเลือกสีจะเป็นสีที่มีโทนเดียวกัน แต่ก็ยังต้องคำนึงถึงน้ำหนักของสีอีกด้วย กล่าวคือ มักจะไม่นิยมใช้สีที่สดกว่า หรือแก่กว่ากันจนเกินไป ถ้าสมมุติว่า ห้องนั้นเป็นสีอ่อนหรือสีจางๆ ก็มักจะต้องใช้ดอกไม้สีอ่อนหรือจางด้วย จะเข้มกว่าหรือจางกว่าก็เพียงเล็กน้อย ไม่แตกต่างกันจนเกินไปนัก

การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่นั้น
เราอาจจะแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
แบบโมเดิร์น หรือแบบทันสมัย
แบบ
แอ๊บสแตร็ค หรือแบบคำนึงถึงสัญลักษณ์มากกว่าความสมจริง
แบบแฟนซี หรือแบบที่ดูแปลกๆ พิสดาร
ลักษณะ วิธีการ และรูปแบบ การจัดดอกไม้แบบสมัยใหม่ทั้ง 3 ประการนั้น ส่วนใหญ่มิได้แตกต่างกันมากนัก เพราะหลักการสำคัญที่ยึดถืออยู่ก็คือ เส้นหรือแนวนั้นเอง จนอาจจะกล่าวได้ว่า เป็นการจัดแบบเดียวกัน แต่ที่แยกประเภทเอาไว้นั้น ก็เพื่อที่จะให้เป็นที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น และเป็นการสะดวกที่จะทำความเข้าใจกันในโอการต่อไปเท่านั้น
งานศิลปะนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะประเภทใด ต่างก็ต้องการรูปแบบที่สร้างสรรค์ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ลอกเลียนแบบใคร ทั้งนี้หากเราสร้างสรรค์งานศิลปะได้แต่เพียงวิธีที่ต้องลอกเลียนแบบเสียแล้ว งานก็ย่อมไม่ก้าวหน้า ความสามารถก็จะมีอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ถ้าเปรียบเทียบ ก็จะเหมือนกับนกแก้วหรือนกขุนทองที่พูดได้ก็เฉพาะถ้อยคำที่เจ้าของสอนเอาไว้ให้พูดเท่านั้น จะคิดหรือพูดคำอื่นๆ ไม่ได้ ซึ่งมันไม่ผิดอะไรกับเครื่องจักร ดังเช่นวิทยุ โทรทัศน์ ที่จะเกิดภาพหรือมีเสียงก็แต่เฉพาะที่คนจัดรายการส่งออกอากาศเท่านั้น คนที่รับฟังหรือชมอยู่ แม้จะอยากชมสิ่งแปลก ก็ไม่สามารถฟังหรือชมได้ดังใจปรารถนา ค่าของมันก็ลดน้อยลง คราวนี้ถ้าเรามาลองสมมุติกันดูว่า หากเรามีโทรศัพท์ที่สามารถจะให้ภาพให้เสียงได้ตามที่ใจเราต้องการจะได้เห็นได้ยิน หรือมีวิทยุที่สามารถส่งเสียงเพลงที่เราต้องการฟังได้ทุกขณะทุกเวลา วิทยุหรือโทรทัศน์เครื่องนั้นๆ จะกลายเป็นของที่มีค่าเลอเลิศเพียงใดเห็นจะไม่จำเป็นต้องพูดถึงกันอีก




















ไม้มงคล ๙ ชนิด

ไม้มงคล ๙ ชนิด
๑. ไม้ราชพฤกษ์
ไม้ราชพฤกษ์ หมายถึง ความเป็นใหญ่และมีอำนาจวาสนา
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 8 - 15 เมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียแถบร้อน ขึ้นตามป่าเบญจพรรณแล้งทั่วไป

ออกดอก กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม ทิ้งใบก่อนออกดอกขยายพันธุ์ โดยเมล็ด วิธีการเตรียมเมล็ดก่อนเพาะ นำเมล็ดมาตัดหรือทำให้เกิด บาดแผลที่ปลายเมล็ดแล้ว แช่น้ำไว้ 12 ชั่วโมง หรือแช่กรดซัลฟูริคเข้มข้น 1.84 ประมาณ 15 นาที แล้วล้างน้ำให้สะอาด แช่น้ำทิ้งไว้ 12 ชั่วโมง วิธีนี้สะดวกแต่อันตราย และอีกวิธีหนึ่งคือ ต้มน้ำให้เดือดแล้วเทลงในเมล็ด ทิ้งไว้ข้ามคืน ทั้ง 2 วิธีนี้จะทำ ให้เมล็ดดูดน้ำเข้าไปและพร้อมที่จะงอก
วิธีเพาะ อาจหยอดลงในถุงดินที่เตรียมไว้หรือจะเพาะในแปลงเพาะแล้วย้ายชำกล้าในภายหลัง ควรให้เมล็ดอยู่ใต้ผิวดิน 3-5 มิลลิเมตร รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 1-2 สัปดาห์

ประโยชน์ ราก ฝนทาแก้กลาก เป็นยาระบาย รากและแก่นเป็นยาขับพยาธิ เปลือกและไม้ใช้ฟอกหนัง และใช้บดทาผื่นตามร่างกาย เนื้อไม้สีแดงแกมเหลืองทนทานใช้ทำเสา ล้อเกวียน ใบต้มกินเป็นยาระบาย ดอกแก้ไข้ ฝักเนื้อในรสหวาน เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาการแน่นหน้าอก แก้ขัดข้อ


๒. ไม้ขนุน
ไม้ขนุน หมายถึง หนุนให้ดีขึ้นร่ำรวยขึ้น ทำอะไรจะมีผู้ให้การเกื้อหนุน
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูง 15 - 30 เมตร ลำต้นและกิ่งเมื่อมีบาดแผลจะมีน้ำยางสีขาวข้นคล้ายน้ำนมไหล
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียเป็นพืชเศรษฐกิจเมืองร้อนที่ให้ผลมีขนาดใหญ่ที่สุดสามารถ บริโภคทั้งผลดิบและผลสุก นอกจากนี้ยังนำไปแปรรูปเป็นอาหารชนิดต่างๆ มีปลูกทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอก จะออกปีละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเดือนธันวาคม - มกราคม และเมษายน - พฤษภาคมขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ติดตา และทาบกิ่ง
ประโยชน์ ผลอ่อน ใช้ปรุงอาหาร ผลสุกเยื่อหุ้มเมล็ดมีรสหวาน เมล็ดปรุงอาหาร เนื้อไม้ ใช้ทำพื้นเรือนและสิ่งก่อสร้าง ครก สากกระเดื่อง หวี โทน รำมะนา ระนาด รากและแก่น ให้สีเหลือง ถึงเหลืองอมน้ำตาล ใช้ย้อมผ้าและแพรไหม รากนำมาปรุงเป็นยาแก้ท้องร่วง แก้ไข้ ใบ เผาไฟกับซังข้าวโพดให้ดำเป็นถ่าน แล้วใส่รวมกับก้นกะลามะพร้าวขูด โรยรักษาบาดแผล

๓. ไม้ชัยพฤกษ์
ไม้ชัยพฤกษ์ หมายถึง การมีโชคชัย ชัยชนะ ชนะศัตรู ชนะอุปสรรคต่างๆ
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น สูงถึง 15 เมตร ลำต้นสีน้ำตาล ทรงพุ่มใบกลมคล้ายร่ม เมื่อต้นยังอ่อนมีหนาม ใบประกอบรูปขนนกปลายคู่ เรียงสลับ มีใบย่อย 5 - 15 คู่ แผ่นใบรูปไข่แกมรูปรี หรือรูปขอบขนาน ขนาดกว้าง 1.5 - 2.5 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 5 เซนติเมตร ปลายใบมน โคนใบกลม ผิวใบด้านล่างมีขนละเอียด
ดอก เริ่มบานสีชมพู แล้วเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ใกล้โรยดอกสีขาว ออกเป็นช่อตามกิ่งยาว 5 - 16 เซนติเมตร กลีบเลี้ยงสีแดง หรือแดงปนน้ำตาล ดอกเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.5 เซนติเมตร ผลเป็นฝักกลมสีดำ ยาว 20 - 60 เซนติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 - 1.5 เซนติเมตร เมื่อแก่ไม่แตกมีเมล็ดจำนวนมาก
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดอินโดนีเซีย
ออกดอก กุมภาพันธ์ - เมษายน
ขยายพันธุ์ โดยใช้เมล็ด วิธีเพาะเช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ เนื้อในฝักเป็นยาระบายอ่อน ๆ ปลูกประดับ ดอกสวยงาม


๔. ไม้ทองหลาง
ไม้ทองหลาง หมายถึง การมีทรัพย์สินเงิน มีเงินทองใช้ไม่ขัดสน
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 5 - 10 เมตร ตามกิ่งต้นอ่อนมีหนาม เรือนยอดเป็นพุ่มกลม โปร่งนิเวศวิทยา พบทั่วไปในย่านเอเชียเขตร้อนและอบอุ่น
ออกดอก มกราคม - กุมภาพันธุ์
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ดและปักชำ
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ


๕. ไผ่สีสุก
ไผ่สีสุก หมายถึง มีความสุขกายสบายใจ ไร้ทุกข์โศกโรคภัย
ข้อมูลทางวิชาการ
เป็นไม้ไผ่ประเภทมีหนาม ความยาวลำต้นสูง 10 - 18 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 8 - 12 เซนติเมตร แข็ง ผิวเรียบเป็นมัน ข้อไม่พองออกมา กิ่งมากแตกตั้งฉากกับลำต้น หนามโค้งออกเป็นกลุ่ม ๆ ละ 3 อัน อันกลางยาวกว่าเพื่อน ลำมีรูเล็กเนื้อหนา ใบมีจำนวน 5 - 6 ใบ ที่ปลายกิ่ง ปลายใบเรียวแหลม โคนใบเป็นรูปลิ่มกว้าง ๆ หรือตัดตรง แผ่นใบกว้าง 0.8 - 2 เซนติเมตร ยาว 10 - 20 เซนติเมตร ใต้ใบมีสีเขียวอมเหลือง เส้นลายใบมี 5 - 9 คู่ ก้านใบสั้น ขอบใบสาก คลีบใบเล็กมีขน

นิเวศวิทยา เชื่อกันว่าเป็นไม้ดั้งเดิมในหมู่เกาะอินเดียตะวันออก หรือหมู่เกาะแปซิฟิคตอนใต้ ในประเทศไทย มักจะขึ้นอยู่ตามที่ราบลุ่มริมห้วย แม่น้ำ และมักปลูกรอบ ๆ บ้านในชนบท

ขยายพันธุ์ ปักชำ ใช้ท่อนไม้ไผ่มาตัดทอนเป็นท่อน ๆ ให้ติดปล้อง 1 ปล้อง (ข้อตา) นำมาปักไว้ในวัสดุชำ เอียงประมาณ 45 องศา เรียงเป็นแถวเป็นแนวเดียวกันเพื่อสะดวกในการดูแลรักษา เติมน้ำลงในกระบอกไม้ไผ่ให้เต็ม ประมาณ 4 สัปดาห์ หน่อจะแตกออกจากตาไม้ไผ่ และรากจะงอกออกจากปุ่มใต้ตา หรือถ้าตัดทอนท่อนไม้ไผ่ให้ตัดข้อตา 2 ข้อ แล้วเจาะตรงกลางระหว่างข้อตา สำหรับเติมน้ำลงไปในปล้อง นำไปวางนอนในวัสดุชำแนวราบก็ได้เช่นกัน

ประโยชน์ สมัยก่อนมักปลูกไว้รอบบ้านเป็นรั้วกันขโมย กันลม หน่อเมื่ออยู่ใต้ดินทำอาหารได้มีรสดี เมื่อโผล่พ้นดินประมาณ 20 - 30 เซนติเมตร มักเอาไปทำหน่อไม้ดอง จะให้รสเปรี้ยว สีขาว และเก็บได้นาน โดยไม่เปื่อยเหมือนหน่อไม้ชนิดอื่น เนื้อไม้หนาแข็งแรง ใช้สร้างบ้านในชนบทได้ทนทาน ทำเครื่องจักสาน เครื่องใช้ในการประมง ใช้ในการทำนั่งร้านก่อสร้าง ส่วนโคนนิยมใช้ทำไม้คานหาบหามและใช้ทำกระดาษให้เนื้อเยื่อสูง



๖. ไม้ทรงบาดาล
ไม้ทรงบาดาล หมายถึง ความมั่นคง หรือทำให้บ้านมั่นคงแข็งแรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้พุ่ม สูง 3 - 5 เมตร ใบ ประกอบแบบขนนก เรียงสลับ ใบย่อย 4 - 6 คู่ รูปไข่หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 1 - 2 เซนติเมตร ยาว 2.5 - 4 เซนติเมตร ปลายใบแหลม โคนใบมน ดอก สีเหลืองออกตามซอกใบ และปลายกิ่ง กลีบเลี้ยง 5 กลีบ เมื่อบานเส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5 - 3 เซนติเมตร ผล เป็นฝักแบน กว้าง 1 - 1.5 เซนติเมตร ยาว 7 - 20 เซนติเมตร
นิเวศวิทยา ถิ่นกำเนิดเอเชียเขตร้อนและจาไมก้า ออกดอก ตลอดปี ขยายพันธุ์ เพาะเมล็ด วิธีเตรียมเมล็ด ก่อนเพาะ นำเมล็ดมาแช่น้ำร้อน 80 - 90 องศาเซลเซียส แล้วทิ้งไว้ให้เย็น 16 ชั่วโมง
วิธีเพาะเมล็ด เช่นเดียวกับราชพฤกษ์
ประโยชน์ ปลูกเป็นไม้ประดับ


๗. ไม้สัก
ไม้สัก หมายถึง ความมีศักดิ์ศรี ความมีเกียรติ อำนาจบารมี คนเคารพนับถือและยำเกรง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ผลัดใบในฤดูร้อน ลำต้นเปลาตรงเปลือกเรียบหรือแตกเป็นร่องเล็ก ๆ สีเทา โคนเป็นพูพอนต่ำ ๆ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมค่อนข้างทึบ เปลือกสีเทา เรียบ หรือแตกเป็นร่องตื้นตามความยาวลำต้น
นิเวศวิทยา ขึ้นเป็นหมู่ในป่าเบญจพรรณทางภาคเหนือ บางส่วนในภาคกลางและภาคตะวันตก มีอยู่บ้างทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ออกดอก ออกดอกและเป็นผลเดือน มิถุนายน - ตุลาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด ปักชำ
ประโยชน์ เนื้อไม้มีลายสวยงามแข็งแรงทนทาน เลื่อย ผ่า ไสกบตบแต่ง และชักเงาได้ง่าย ใช้ทำเครื่องเรือนและในการก่อสร้างบ้านเรือน ปลวก มอด ไม่ชอบทำลายเพระมีสารพวกเตคโตคริโนน

๘. ไม้พะยูง
ไม้พะยูง หมายถึง การพยุงฐานะให้ดีขึ้น
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ผลัดใบ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีเทาเรียบเรือนยอดทรงกลมหรือรูปไข่
นิเวศวิทยา ขึ้นในป่าดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณชื้น ทั่ว ๆ ไป ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก
ออกดอก พฤษภาคม - กรกฎาคม ฝักแก่ กรกฎาคม - กันยายน
ขยายพันธุ์ โดยนำเมล็ดแช่ในน้ำเย็น 24 ชั่วโมง แล้วเพาะในกะบะเพาะ โดยหว่านให้กระจายทั้งกะบะเพาะแล้วโรยทรายกลบบาง ๆ รดน้ำให้ชุ่ม เมล็ดจะงอกภายใน 7 วัน เมื่อกล้าไม้อายุ 10-14 วัน ความสูงประมาณ 1 นิ้ว มีใบเลี้ยง 1 คู่ สามารถย้ายชำในถุงหรือภาชนะที่เตรียมไว้ได้
ประโยชน์ เนื้อไม้สีแดงอมม่วง ถึงแดงเลือดหมูแก เนื้อละเอียด แข็งแรงทนทาน ขัดและชักเงาได้ดี ใช้ทำเครื่องเรือน เกวียน เครื่องกลึงแกะสลัก ทำเครื่องดนตรี เช่น ซอ ขลุ่ย ลูกระนาด


๙. ไม้กันเกรา
ไม้กันเกรา หมายถึง ป้องกันภัยอันตรายต่างๆ หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ตำเสา ซึ่งอาจหมายถึงทำให้เสาเรือนมั่นคง
ข้อมูลทางวิชาการ
ไม้ต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 15 - 25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลเข้ม แตกเป็นร่องลึกไม่เป็นระเบียบนิเวศวิทยา ขึ้นทั่วไปในป่าเบญจพรรณชื้น และตามที่ต่ำ ที่ชื้นแฉะใกล้น้ำ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
ออกดอก เมษายน - มิถุนายน เป็นผล มิถุนายน - กรกฎาคม
ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด
ประโยชน์ เนื้อไม้ สีเหลืองอ่อน เสี้ยนตรง เนื้อละเอียด เหนียว แข็ง ทนทาน ใช้ในการก่อสร้าง นิยมใช้ทำเสาเรือน แก่นมีรสฝาดใช้เข้ายาบำรุงธาตุ แน่นหน้าอก เปลือกใช้บำรุงโลหิต ผิวหนังพุพอง ปลูกเป็นไม้ประดับ








พรรณไม้ประดับมงคล

พรรณไม้ประดับมงคล

ชวนชม
ชื่อสามัญ Impala Lily Adenium
ชื่อวิทยาศาสตร์ Adenium obesum.
ตระกูล APOCYNACEAE

ลักษณะทั่วไป ชวนชมเป็นพรรณไม้ยืนต้นอวบน้ำขนาดเล็กลำต้นมีความสูงประมาณ1-3เมตรลำต้นอวบน้ำผิวเปลือกสีเขียวปนขาวผิวเรียบเป็นมัน ลำต้นมียางลำต้นบิดงอไปตามจังหวะแตกกิ่งก้านสาขาน้อยรูปทรงโปร่งใบแตกออกตามปลายของกิ่งก้านใบมนรีปลายใบมนโคนใบ สอบเรียว กลางใบมีเส้นสีขาวมองได้ชัด ตัวใบแข็ง ผิวเป็นมันเรียบมีสีเขียวดอกออกตรงปลายยอดของก้านดอกเป็นรูปแตรมีกลีบ ดอก 5 กลีบ มีสีชมพูโคนกลีบดอกมีฐานรองดอกเป็นแฉกเล็ก ๆ สีเขียว ดอกบานมีความกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร ยาวประมาณ 5 เซนติเมตร

การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำน้อย ทนต่อความแห้งแล้งให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง
ดิน ดินร่วนซุย
ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 1-2 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-6 ครั้ง
การขยายพันธ์ การปักชำ การตอนโรคและศัตรู ไม่ค่อยมีปัญหา
เรื่องโรคและศัตรู เพราะเป็นไม้ที่มีความทนทานต่อสภาพธรรมชาติได้ดี


ใบเงิน

ชื่อสามัญ Caricature Plant
ชื่อวิทยาศาสตร์ Grapthophyllun pictum
ตระกูล ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ทองคำขาว

ลักษณะทั่วไป ใบเงินเป็นพรรณไม้ขนาดเล็ก ลักษณะเป็นพุ่มขนาดกลาง ลำต้นมีความสูงประมาณ 2-4 เมตร แตกกิ่งสาขาออกจากโคนต้น และเจริญพุ่งตรงไปข้างบน ลำต้นกลมเล็ก สีขาวปนเทา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเป็นคู่ ๆ สลับกันตามลำต้น ใบเป็นรูปรี ปลายใบ แหลมขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อยขนาดใบกว้างประมาณ3-6 เซนติเมตรยาวประมาณ7-10 เซนติเมตรพื้นใบสีเขียวกลาง ใบปนด้วยสีขาวหรือเหลืองจาง ๆ ออกดอกเป็นช่อ ตามส่วนยอดของลำต้น ลักษณะดอกเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โคนหลอดจะมีกลีบดอก 3 กลีบ ดอกมีสีแดงเข้ม

การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดอ่อน รำไร
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลางควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
ดิน ดินร่วนซุย ต้องการความชื้นสูง
ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
การขยายพันธ์ การใช้เมล็ด การปักชำ
วิธีที่นิยมและได้ผลดี การปักชำ
โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อโรคได้ดี
แมลง ไรแดง (Red spider mite)
อาการ ใบสีเหลือง และแห้งเป็นจุดสีน้ำตาล
การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก
การกำจัด ใช้กำมะถันผง (Sulphur) อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก หรือใช้ยาไอโซทอกซ์


ใบทอง ชื่อสามัญ Gold Leaves
ชื่อวิทยาศาสตร์ Grapthophyllun pictum
ตระกูล ACANTHACEAE
ชื่ออื่น ทองนพคุณ ทองลงยา

ลักษณะทั่วไป ใบทองเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดเล็กลักษณะเป็นพุ่มขนาดกลางลำต้นมีความสูงประมาณ2-4 เมตรการแตกกิ่งก้านสาขาออก จากโคนต้นและเจริญพุ่งตรงขึ้นไปข้างบนลำต้นกลมเล็กมีสีขาวปนเทาใบเป็นใบเดี่ยวแตกออกเป็นคู่ๆสลับกันตามข้อของลำ ต้นหรือกิ่งก้าน ลักษณะใบคล้ายรูปหอกปลายใบแหลม โคนใบสอบ ขอบใบเรียบเป็นคลื่นเล็กน้อย พื้นใบมีสีเหลืองอ่อน ขอบใบจะมีรอยด่างเป็นสีเหลือง ขนาดใบกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร ยาวประมาณ 7-10 เซนติเมตร ออกดอกเป็นช่อสั้น ออกตามส่วนยอดของลำต้น ลักษณะเป็นหลอดยาวประมาณ 2-3 เซนติเมตร โคนหลอดจะมีกลีบดอก 3 กลีบ ดอกมีสีม่วง

การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดอ่อน รำไร
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลางควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
ดิน ดินร่วนซุย ต้องการความชื้นสูง
ปุ๋ย ควรใส่ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก อัตรา 0.5-1 กิโลกรัม/ต้น ใส่ปีละ 4-5 ครั้ง
การขยายพันธ์ การใช้เมล็ด การปักชำ
วิธีที่นิยมและได้ผลดี การปักชำ
โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนทานต่อโรคได้ดี
แมลง ไรแดง (Red spider mite)
อาการ ใบสีเหลือง และแห้งเป็นจุดสีน้ำตาล
การป้องกัน รักษาความสะอาดบริเวณแปลงปลูก
การกำจัด ใช้กำมะถันผง (Sulphur) อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก หรือใช้ยาไอโซทอกซ์


ทองกวาว

ชื่อสามัญ Flame of th Forest
ชื่อวิทยาศาสตร์ Butea monosperma.
ตระกูล LEGUMINOSAE
ชื่ออื่น จอมทอง ทองต้น ทองธรรมชาติ
ลักษณะทั่วไป ทองกวาวเป็นพรรณไม้ยืนต้น ขนาดกลางและใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 12-18 เมตร ผิวเปลือกสีน้ำตาลหรือสีเทาคล้ำ ผิวเปลือกเป็นตุ่มหรือปม การแตกกิ่งก้านไปในทิศทางที่ไม่ค่อยเป็นระเบียบ ใบออกเป็นช่อมีใบประกอบ 3 ใบ ก้านใบยาวประมาณ 15 - 20 เซนติเมตร ลักษณะใบกลม ปลายมน รีแหลม โคนใบมนสอบ ขนาดใบกว้าง 2 - 5 นิ้ว ยาวประมาณ 4 - 8 นิ้ว อกดอกเป็นช่อคล้ายกับดอกทองหลาง ดอกมีขนาดใหญ่สีแดงหรือสีเหลือง ดอกเป็นช่อสั้น มี กลีบดอก 5 กลีบ ผลมีลักษณะเป็นฝัก แบน โค้งงอเล็กน้อย ฝักยาวประมาณ 10 - 12 เซนติเมตร กว้างประมาณ 2 - 3เซนติเมตร เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ภายในฝักมีเมล็ดขนาดเล็ก
การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 7-10 วัน/ครั้ง
ดิน ชอบดินร่วนซุย
ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2 : 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3- 5 ครั้ง
การขยายพันธ์ การเพาะเมล็ด
โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร


ทองหลาง
ชื่อสามัญ Coral Tree
ชื่อวิทยาศาสตร์ Erythrina crista - galli
ระกูล PAPILIONACEAE
ลักษณะทั่วไป ทองหลางเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ลำต้นมีความสูงประมาณ 10 - 20 เมตรผิวเปลือกลำต้นบางมีสีเทาหรือ เหลืองอ่อนๆ ลำต้นและกิ่งก้านนั้นมีหนามแหลมคมใบเป็นใบรวมออกเป็นช่อมีประมาณ 3 ใบลักษณะใบเป็นรูปสามเหลี่ยม คล้ายใบโพธิ์ขนาดใบกว้างประมาณ 2 -3 นิ้วยาวประมาณ35นิ้วผิวใบเรียบสีเขียวหรือด่างเหลืองๆใต้ท้องใบมีสีขาวขุ่นก้านช่อ ยาวประมาณ 3-5 นิ้วดอกออกเป็นช่อติดกันเป็นกลุ่มออกตามบริเวณข้อต้นหรือโคนก้านใบลักษณะดอกคล้ายกับดอกถั่วมีสี แดงหรือชมพูกลีบดอกกว้างประมาณ 1-2 นิ้ว ยาวประมาณ 2-3 นิ้ว ช่อดอกยาวประมาณ 4-8 นิ้ว ผลเป็นฝักแบนโค้งเล็กน้อย โคนฝักจะลีบเล็กผลแก่ฝักจะแตกที่ปลายอ้าออกภายในฝักมีเมล็ดเป็นเหลี่ยมนอกจากนี้ลักษณะของต้นใบดอกแตกต่างกันไปตามชนิดพันธุ์
การดูแลรักษา
แสง ต้องการแสงแดดจัด หรือกลางแจ้ง
น้ำ ต้องการปริมาณน้ำปานกลาง ควรให้น้ำ 5-7 วัน/ครั้ง
ดิน ชอบดินร่วนซุย
ปุ๋ย ใช้ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก อัตรา 2: 3 กิโลกรัม/ต้น ควรใส่ปีละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ปุ๋ยเคมี สูตร 15 - 15 - 15 อัตรา 100-300 กรัม/ต้น ใส่ปีละ 3-4 ครั้ง
การขยายพันธ์ การปักชำ การตอน
โรค ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะมีความทนทานต่อโรคได้ดี
ศัตรู เพลี้ยต่าง ๆ (Aphis)
อาการ กัดแทะใบ ทำให้ใบเป็นรู เป็นรอย โดยเฉพาะใบอ่อนจึงทำให้ทรงพุ่มแคระแกร็น
การป้องกัน ทำลายตัวอ่อนของเพลี้ยก่อนเจริญเป็ฯตัวแก่
การกำจัด ใช้ยาคาร์บาริล (Carbaryl) อัตราและคำแนะนำระบุไว้ตามฉลาก